ทิพย์ธารา….ห้องอาหารไทย ความภูมิใจในความเป็นไทยออเทนติกกว่า 20 ปี

ห้องอาหารไทย ‘ทิพย์ธารา’ กรุงเทพฯ’ ร้านอาหารไทยออเทนติก และอาหารจานพิเศษที่ได้รับอิทธิพลมาจากชุมชนท้องถิ่นกรุงธนบุรี
เชฟหญิง - มณนิภา รุ่งทอง เล่าว่า “ชื่อ ทิพย์ธารา ได้มาจากชื่อที่พนักงานตอนก่อตั้งร่วมกันโหวต ตั้งมาราว 20 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เป็นอาหารไทยแท้แบบโบราณ มาเริ่มปรับประยุกต์เป็นไทยโมเดิร์น คล้าย ๆ โมเลกุลาร์อยู่ยุคหนึ่ง พอถึงอีกยุคหนึ่งปรับเป็นไทยออเทนติก (Authentic) ในขณะเดียวก็อยากได้พรีเซนเทชั่นในรูปแบบที่ทันสมัย ซึ่งคือ ทิพย์ธารา ที่เห็นทุกวันนี้”
ทิพย์ธารา แรกก่อสร้างจากศาลาไทยที่มาจากอยุธยา เป็นห้องอาหารริมน้ำ โอเพ่นแอร์ เมนูห้ามพลาด  
ยำส้มโอ…เราจะโชว์ยำบนรถเข็น ปรุงกันสด ๆ, ขนมเบื้องญวนโบราณ นำไปทอดจนกรอบ มีไส้ขนมเบื้องผัดกับหัวมันกุ้ง เพิ่มกุ้งแม่น้ำเผา เสิร์ฟด้วยกัน มีอาจาดตัดเลี่ยน
แกงระแวงเนื้อ คล้ายกับแกงเขียวหวาน เพิ่มขมิ้นเข้ามาในพริกแกงเขียวหวาน และไม่มีมะเขือมากหากเพิ่มตะไคร้เข้ามาแทน เราชูกลิ่นตะไคร้ให้เด่น ใส่เนื้อน่องลายตุ๋นเครื่องซูวีจนเปื่อยได้ที่ นำมาเซียร์อีกรอบนึง เสิร์ฟท็อปปิ้งบนแกง
เชฟหญิง เล่าว่า ทิพย์ธารา ปัจจุบันนำเสนอรสชาติไทยต้นตำรับ มีหลายเมนูที่ลูกค้าติดใจ และมักจัดรายการพิเศษอยู่เสมอ เช่นที่ผ่านมาจัดเมนูพิเศษเซ็ตข้าวไทยจากทั่วประเทศ หลากหลายสายพันธุ์

ดินเนอร์คอร์สขึ้นชื่อ คือ Regions set นำเมนูเด่น ๆ ของแต่ละภาคนำเสนอเป็น 5 คอร์ส เช่น จานเรียกน้ำย่อย ประยุกต์จากอาหารของภาคอีสาน คล้ายกุ้งแช่น้ำปลาแต่มีแจ่วคลุก บีบมะนาว ใส่ข้าวคั่วที่ทำเอง
อีกเมนูเป็นออร์แกนิคปลากราย มาปรุงรสชาติคล้ายลาบคั่วเหนือ แล้วนำไปคลุกกับเกล็ดขนมปัง ทำเป็น lollipop (อมยิ้ม)
ต่อด้วยซุปสื่อถึงภาคกลางกับภาคตะวันออก ใช้กะปิคลองโคนเอามาทำซุปกะทิกะปิคลองโคนกับกุ้งแม่น้ำ ลักษณะคล้ายต้มข่า หอมกะปิ ใส่กุ้งแม่น้ำต้มลงไปได้ความหอมของมันกุ้ง รสชาติออกเปรี้ยวนิด ๆ หวานปลาย ๆ จากน้ำมะขามเปียก”

เชฟบอกว่า ก่อนหน้าจานเรียกน้ำย่อยเป็น อะมุส บุช (อาหารขนาดพอคำ) เปลี่ยนไปแต่ละวันไม่ซ้ำ ดินเนอร์ 5 คอร์สคอร์ส
เมนูพิเศษ คือ ขนมและอาหารจากชุมชนรอบ ๆ โรงแรม มี 5 เมนู ทำเพื่อขอบคุณชุมชนรอบพื้นที่กรุงธนบุรี นำอาหารแบบเก่าแก่ และจากร้านดั้งเดิม อาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมชาวมอญ โปรตุเกส อาหารจีนบ้าง มานำเสนอเป็น อะ ลา คาร์ท 5 เมนู  เช่น 
หมี่กรอบจีนหลี หรือ เต๊กเฮง ตลาดพลู เปิดมา 130 ปี เป็นเมนูที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เคยเสวย มีประวัติว่าท่านเสด็จลงเรือประพาสแล้วได้กลิ่น ลองเสวยดูพบว่าหอม อร่อย ท่านเลยเรียกว่า หมี่กรอบเสวยสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันเขาก็ยังขายอยู่ที่ตลาดพลู”

“กรรมวิธีทำค่อนข้างยุ่งยาก สมัยก่อนเขาใช้น้ำมันหมูเจียว และใช้กุ้งแม่น้ำที่มีอยู่ตามริมแม่น้ำ เวลาทอดจากน้ำมันหมูกลิ่นจะหอมฟุ้ง แต่ใช้น้ำมันค่อนข้างเยอะซึ่งคนสมัยนี้ก็ไม่ค่อยทานน้ำมันหมูด้วย
เราเลยประยุกต์นำหมี่กรอบไปทอดให้เป็นหมี่กรอบฟู ๆ 1 ครั้ง แล้วทำซอสที่ปรุงจากน้ำส้มซ่า น้ำกระเทียมดอง ปรุงรสชาติแล้วไปทอดซ้ำให้ได้สีพอดีแล้วรีบเอาขึ้น ทำให้มีความหอมของมันกุ้ง ทานกับกระเทียมดอง ถั่วงอก กุยช่าย มาตัดเลี่ยนพอดี” เมื่อนำเมนูมาจึงอ้างอิงชื่อตามร้านหรือแหล่งที่มา แม้จะนำมาพรีเซนต์ใหม่
อีกเมนูเป็น ข้าวพระรามลงสรง เป็นอาหารจากย่านท่าดินแดง มีร้านทำพระรามลงสรงเก่าแก่ เปิดมาหลายปี เมนูนี้น่าจะมาจากชาวจีนสมัยกรุงธนบุรี บ้างบอกว่ามาจากชาวจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า ชาแตปึง เป็นผักบุ้งลวกแล้วราดซอสคล้ายสะเต๊ะของชาวมาเลย์  เพิ่มความหอมด้วยถั่วคั่ว งาคั่ว ชื่อพระรามลงสรง มาจากผักบุ้งเขียว ๆ สูตรดั้งเดิมอาจเป็นหมูชิ้นหรือเนื้อชิ้นราดซอส ของเราเพิ่มผักบุ้งโดยเอาไปทอดกรอบเพิ่มเท็กซ์เจอร์ เวลาทานมีลูกเล่นแล้วเพิ่มไก่ย่างด้วย”
อีกเมนูชื่อเรียกยากว่า สัพแหยกไก่ (อ่านว่า สัพ-พะ-แหยก-ไก่) เหมือนอาหารว่าง หรืออาหารทานเล่น “ได้มาจากชุมชนกุฎีจีน เราไปดูว่าย่านนั้นมีอาหารอะไรน่าสนใจ ไปเจอตัวนี้เอามาทำเป็นแอพเพอร์ไทเซอร์ จริง ๆ เป็นกับข้าวได้เลย แรงบันดาลใจมาจากอาหารของชาวโปรตุเกส สมัยก่อนใช้เนื้อ 
รากศัพท์มาจากคำว่า สับเชค, สับเช่ เป็นคำกิริยาหมายถึงการสับเนื้อสัตว์ เราดัดแปลงใส่มันฝรั่ง ใส่เครื่องเทศ เช่น ผงขมิ้น ลูกผักชี ยี่หร่า เพิ่มความหอม ปรุงรสชาติให้เปรี้ยวด้วยน้ำส้ม มีหวานเค็มตามมา แล้วทาบนขนมปังปิ้งทาเนย แต่ปรับเล็กน้อยโดยทาน้ำมันพริกเผาย่างเล็กน้อยเพิ่มความหอม” เป็นอาหารว่างเคี้ยวเพลิน ได้กลิ่นเครื่องเทศเข้มข้น อีกเมนูเป็นแกงรสจัด

“แกงเหงาหงอดปลาสังกะวาด เป็นแกงเก่าแก่สมัยกรุงธนบุรี สมัยก่อนมีชาวโปรตุเกสเข้ามา ซึ่งได้อิทธิพลมาจากบุยบาเบส เป็นซุปที่นิยมทานหน้าหนาว  เพราะใส่เครื่องเทศและกระชายให้ความเผ็ดร้อน รสชาติคล้ายแกงส้มผสมกับแกงป่า กินแล้วกระตุ้นเลือดลม นิยมกินตอนหน้าหนาว เดือนอ้ายถึงเดือนยี่ ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
เชฟบอกว่า คนโปรตุเกสใช้ปลาค็อดหรือสัตว์ทะเล แต่บ้านเราใช้ปลาแม่น้ำแทน

“ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปลาสังกะวาดเยอะ เลยไปหามาแต่ก่อนคงมีเยอะ ตอนนี้ได้จากเมืองกาญจน์ ไซส์จะไม่เท่ากัน ตัวค่อนข้างเล็กไม่เกินกำปั้น แต่เนื้อจะเด้ง ๆ ก้างนิ่มเลยเอามาทอดให้แนมด้วย
เราทำเครื่องแกงก่อน ใส่คาร์ดามอม เครื่องเทศต่าง ๆ ที่ให้ความเผ็ดร้อน ในซุปมีมะละกอเส้นให้เคี้ยวมีเท็กซ์เจอร์ โดยเอาไปลวกก่อนแล้วคลุกรสชาติ ผัดกับใบโหระพาให้หอม สูตรโบราณเป็นพวกฟักแฟง”

ของหวานมีหลายอย่าง เมนูที่ยกขึ้น ทิพย์ธารา (ใน 2 เดือน) คือ ข้าวเม่าคลุกแบบโบราณ
“พื้นที่ย่านกรุงธนบุรีมีตรอกข้าวเม่า ดั้งเดิมเป็นชาวมอญอาศัยอยู่ ซึ่งเขามีสูตรข้าวเม่าคลุกโบราณ เราก็มาเพิ่มไอศกรีมกะทิโฮมเมดให้ทานคู่กัน”

นอกจากเมนูอาหารคาว 5 อย่าง ยังมีขนมหวานแบบดั้งเดิมย่านฝั่งธนบุรีจากร้านดัง มานำเสนอ เช่น ขนมบ้านสกุลทอง, ขนมหวานตลาดพลู, ขนมเบื้องวัดอรุณ, กล้วยไข่เชื่อม, ขนมข้าวเม่า ฯลฯ
“เมนูพิเศษสามารถสั่งอะ ลา คาร์ท หรือเลือกเซ็ตเมนูดินเนอร์ 5 คอร์ส ทิพย์ธารา เสิร์ฟอาหารไทยออเทนติก ริมแม่น้ำ บรรยากาศดีมาก ช่วงปลายปีที่นั่งจะเต็มตลอด”

พิกัด : โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ 
Tel : 02-020:2888, 
www.peninsula.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“Cheals Bar”…บาร์ rooftop เปิดใหม่ มู้ดดี สนุกอารมณ์ ปักหมุดที่แฮงค์เอาท์ใหม่ ณ ซอยอารีย์

L-Seven Café & Bar… บาร์ลับ ๆ ย่านนานา

❤️THE DAY OF JIN & Shutt ❤️ ขาร็อคก็หวานเป็น❤️ชัช บอดี้แสลม