ตลาดนัดกลางคืน รายได้ มากกว่า 1,000 ล้านบาท

ถ้าเราเป็นพ่อค้าแม่ค้า ขายของในตลาดนัด เราอาจจะมีรายได้ที่ไม่เท่ากันทุกวันหรือทุกเดือน เพราะจะมีบางเดือนขายดี บางเดือนขายไม่ดี

แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของตลาด แล้วมีพ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผงเปิดร้านเต็มตลาดของเราตลอดเวลา

แบบนี้เราจะกลายเป็นเสือนอนกิน ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบไม่ต้องทำอะไรเลย….นี่คือโมเดลธุรกิจของ ตลาดนัด

ตลาดนัดมีโมเดลธุรกิจง่าย ๆ คือ เจ้าของเอาพื้นที่มาพัฒนาเป็นตลาด แล้วให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผง เปิดร้านขายของ หมายความว่า ถ้าตลาดนั้นทำดี ๆ มีคนมาเดินเยอะตลอด ก็จะมีร้านค้ามาเช่าแผงเต็มตลอด เพราะเขาก็จะมีโอกาสขายของได้เยอะ

หากพูดถึงตลาดนัดดัง ๆ ในเมืองไทยที่คนมาเดินเยอะ ๆ ถ้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็อย่างเช่น ตลาดจ๊อดแฟร์, ตลาดนัดหัวมุม, ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์

แล้วตลาดนัดเหล่านี้ ทำไมถึงประสบความสำเร็จมาก ลองมาวิเคราะห์กัน

1.อย่างแรกก็คือเรื่อง ทำเล

นอกจากจะเป็นที่ดินที่มีขนาดใหญ่พอแล้ว ทำเลที่ตั้งของที่ดิน ที่จะนำมาทำเป็นตลาดนัดนั้น ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ตลาดจ๊อดแฟร์แถวย่านพระราม 9 และที่ใหม่ที่แดนเนรมิต ทำเลตรงที่ว่านี้เพียบพร้อม โดยมีทั้งรถไฟฟ้าผ่าน รวมถึงเป็นย่านที่มีศูนย์การค้า ออฟฟิศ และเป็นย่านนักท่องเที่ยว

ถ้าไม่อยู่กลางเมือง ก็อาจจะเป็นย่านชานเมืองที่มีคนผ่านเยอะ อย่างเช่น ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ หรือตลาดนัดหัวมุม บริเวณจุดตัดถนนเลียบด่วนรามอินทรา และถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งในบริเวณย่านชานเมืองดังกล่าว เป็นบริเวณที่มีหมู่บ้านและที่อยู่อาศัยเยอะ

2.อย่างที่สอง คือ การบริหารจัดการภายในตลาดนัด

แน่นอนว่า ถ้าหากจะทำตลาดนัด ให้สามารถดึงดูดลูกค้าจากบริเวณรอบ ๆ หรือต้องการแย่งลูกค้า จากห้างสรรพสินค้า ให้เข้ามาเดินเล่น และช็อปปิง

การทำตลาดนัดให้ดี จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น...

* เรื่องการจัดการพื้นที่ ให้มีความสะอาด และน่าเดิน

* เรื่องการจัดการแบ่งพื้นที่สำหรับจอดรถ โดยเฉพาะในตลาดนัดต่างจังหวัด ที่คนนิยมขับรถกันมาเอง

3.จัดแบ่งโซนพื้นที่ให้มีความหลากหลาย น่าดึงดูด เช่น แบ่งพื้นที่ให้เป็นโซนขายเสื้อผ้า ของเบ็ดเตล็ด และโซนร้านอาหาร หรือลานที่มีโต๊ะและที่นั่งเยอะ ๆ และมีเวทีสำหรับนักดนตรี

การแบ่งพื้นที่ ทำเป็นโซนต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นท่าประจำของตลาดนัดสมัยใหม่ ที่จะทำให้คนที่มาเดิน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกจากแค่มาซื้อของกิน ของใช้ แล้วก็กลับบ้านไป

แล้วถ้าหากพูดถึงข้อได้เปรียบของตลาดนัด อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตลาดนัดสามารถคิดค่าเช่า ในอัตราที่ถูกกว่าศูนย์การค้า เพราะการทำตลาดนัดไม่เหมือนการทำศูนย์การค้า ที่ต้องลงทุนสร้างอาคารใหญ่ ๆ ขึ้นมา

พอเป็นแบบนี้ หลายตลาดนัดที่เพิ่งเปิดใหม่อาจจะยังไม่เก็บค่าเช่า หรืออาจจะลดค่าเช่า ให้กับพ่อค้าแม่ค้า ที่มาเช่าที่ขายของก่อน เพื่อเป็นการจูงใจ ให้พ่อค้าแม่ค้า มาลองขายของภายในตลาดนัดก่อน และเมื่อคนเริ่มมาเดินเยอะ และพ่อค้าแม่ค้าเริ่มมีกำไร ก็จะทยอยเก็บค่าเช่าแบบเต็มอัตราในภายหลัง

โดยอัตราค่าเช่าของตลาดนัด ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดจ๊อดแฟร์ที่แดนเนรมิต ที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน จะคิดค่าเช่าล็อกละ 500 บาทต่อวัน และมีค่าสิทธิ์ในการเช่ารายปีล็อกละ 20,000 บาทต่อปี

แล้วถ้าเรามาลองคิดเล่น ๆ ดูว่า รายได้ต่อปีของตลาดจ๊อดแฟร์ที่แดนเนรมิต จะเป็นเท่าไร

ตลาดจ๊อดแฟร์มีพื้นที่ตลาดนัดจำนวน 1,200 ล็อก สมมติว่า ตลาดจ๊อดแฟร์มีผู้เช่าอยู่เต็มพื้นที่ และมีผู้เช่าทุกรายมาขายของ โดยสมมติให้แต่ละร้านหยุดเดือนละ 4 วัน ตลาดจ๊อดแฟร์ ก็จะมีรายได้ถึงปีละ 214 ล้านบาท

โดยตลาดจ๊อดแฟร์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าของที่เป็นระยะเวลา 5 ปี ก็เท่ากับว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี หากมีผู้เช่าเต็มทุกวันด้วยสมมติฐานนี้ เจ้าของตลาดจ๊อดแฟร์ จะสามารถทำรายได้ มากกว่า 1,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..

สรุปคือ โมเดลธุรกิจตลาดนัด ถ้าหากทำให้ดี เจ้าของธุรกิจตลาดนัดจะกลายเป็นเสือนอนกิน เพราะไม่ว่าแต่ละร้านจะขายดีหรือไม่ดี ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ถ้ามีคนเช่าแผง เช่าล็อกเต็มตลอดเวลา เจ้าของตลาด ก็ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบไม่ต้องทำอะไรเลย..

ChatTalks…คุยธุรกิจ คิดให้เป็น

www.facebook.com/chatchaitalk

Tel.092-387-1242 , Line ID : ChatTalks

Email : kittisak1241@yahoo.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“Cheals Bar”…บาร์ rooftop เปิดใหม่ มู้ดดี สนุกอารมณ์ ปักหมุดที่แฮงค์เอาท์ใหม่ ณ ซอยอารีย์

L-Seven Café & Bar… บาร์ลับ ๆ ย่านนานา

❤️THE DAY OF JIN & Shutt ❤️ ขาร็อคก็หวานเป็น❤️ชัช บอดี้แสลม