Twisted Saith…ความเชื่ออันบิดเบี้ยว และความป่วยไข้ทางศรัทธาของสังคมไทย
เมื่อช่วงที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างจะ ‘แปลกๆ’ เกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อบรรดา ‘คนทรง เจ้าลัทธิ’ ทั้งหลาย เริ่มได้พื้นที่ตามหน้าสื่อมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
.
ไม่ใช่แค่เพียงหนึ่ง แต่มากมายถึงห้า และหกกลุ่ม บ้างก็เป็นเจ้าลัทธิเด็ก, บ้างก็เป็นร่างทรงจากศาสดาศาสนาห้าชาติ, บ้างก็เป็นลัทธิพึ่งบุญผสมแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เทียมๆ ที่อุปโลกน์ปั้นแต่งขึ้นมา ชวนให้กังขาถึงสภาพและสุขภาพจิตของคนเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย
.
ใช่… มันดูตลกและออกจะไร้สาระมากๆ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่บรรดา ‘เจ้าลัทธิ’ เหล่านี้ได้กระทำผ่านหน้าสื่อ และยิ่งไม่อาจเอาธุระใดๆ เมื่อได้เห็นพฤติกรรมที่ท่านๆ ทั้งหลาย ได้เผยแพร่แนวคิดแปลกๆ ให้กับลูกศิษย์ลูกหา ที่ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะปกติไปกว่ากันสักกี่มากน้อย ….
.
หากแต่ในประเด็นที่ดูไม่มีสาระสำคัญเหล่านี้ กลับสะท้อนถึงภาพรวมของสังคมไทยที่กำลังป่วยไข้ทางวิกฤติศรัทธาเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง และมันอาจจะชวนให้เราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเชื่อ ความศรัทธา’ กันถึงรากฐานเลยก็เป็นได้
.
อันที่จริง ถ้าจะถามถึงกระบวนการทำงานของแนวคิดในเชิงลัทธิหรือ ‘Cult’ แล้วนั้น เราอาจจะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์กันโดยพื้นฐานเกี่ยวกับความเชื่อมานับตั้งแต่สมัยโบราณกาลก่อน ที่ติดฝังถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
.
มนุษย์ดำรงตนและสัมผัสสิ่งที่ไม่อาจทำความเข้าใจในช่วงแรกของวิวัฒนาการ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟไหม้ พายุเข้า ในช่วงเวลาดังกล่าวที่ไม่อาจมีแนวคิดใดให้คำตอบต่อสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับ ‘การอธิบาย’ เพื่อให้หายสงสัย
.
นั่นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อ ความศรัทธา และพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’….
.
มนุษย์วิวัฒนาการตามระยะเวลา มีการอยู่รวมกลุ่มเป็นสังคม ฟังก์ชันของศาสนาเริ่มทวีความซับซ้อน แต่โดยแก่นหลักแล้ว ยังคงมีไว้เพื่อใช้ ‘ตอบคำถาม’ ในความสงสัยเรื่องต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น
.
ตายแล้วไปไหน โลกหน้ามีอยู่จริงหรือไม่ ความลำบากที่พบเจอในชีวิตนี้มีคำอธิบายอย่างไร จะได้รับผลตอบแทนหรือเปล่า และอื่นๆ ….
.
กาลต่อมา วิทยาศาสตร์เริ่มรุดหน้า หลายสิ่งที่เคยปราศจากคำอธิบาย ได้รับการไขกระจ่างแจ้งด้วยแนวคิดที่เป็นหลักการ สังคมมีระบบการรวมกลุ่มที่พ่วงด้วยระบบเศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อ รัฐชาติ และแน่นอน …. ศาสนา
.
ฟังก์ชันของศาสนาถูกยกระดับขึ้นไปสู่การเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางโลก โดยคงแก่นหลักในการตอบคำถามถึงด้านความศรัทธาของผู้คน มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป
.
ทั้งหมดนี้ อธิบายปรากฏการณ์ของเหล่าเจ้าลัทธิที่โผล่ขึ้นมาในระยะเวลาที่ผ่านมานี้อย่างไร? อย่าลืมว่า แก่นของศาสนา อยู่ที่การ ‘ตอบคำถาม’ ในเรื่องความเชื่อและศรัทธา ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะรุดหน้าเพียงใด ความเชื่อ ศรัทธา ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ฝังรากในความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่ไม่อาจตอบคำถามได้ถึงความเหลื่อมล้ำ ความขาดไร้ ความไร้ประสิทธิภาพทางสังคม
.
ศาสนาและวิทยาศาสตร์อาจจะมีคำตอบมากมายนับพัน แต่มันจะไม่เกิดประสิทธิผลได้เทียบเท่ากับหนึ่งการสมอ้างของลัทธิที่สามารถให้ความสะดวกใจหรือคำตอบที่ลูกศิษย์ลูกหาต้องการได้ ‘เพียงหนึ่งเดียว’
.
ว่ากันง่ายๆ คือ เจ้าลัทธิสามารถถอนหงอกเล่นหัว สาดน้ำมนต์อุปโลกน์ ตะโกนโหวกเหวกร้องไห้เหมือนคนบ้า ทำนายทายทักผิดเป็นร้อยครั้งก็ยังได้ ตราบใดที่มีสักครั้งที่คำตอบที่ถูกใจลูกศิษย์สามารถเกิดขึ้นได้ ‘เพียงครั้งเดียว’
.
ครั้งเดียวที่สิ้นสงสัย ครั้งเดียวที่หมดความแคลงใจ ครั้งเดียวที่ศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจคัดง้างอะไรได้ …..
.
สังคมไทยไม่ได้เพิ่งป่วยไข้ด้านศรัทธา แต่เราง่อนแง่นในวิกฤติศรัทธาและตัวตนมาอย่างเนิ่นนาน เรามีกลุ่มลัทธิที่สัญญาเรื่องโลกหน้าที่แปรผันตรงกับจำนวนเงินบริจาค เรามีนักบวชผีบุญที่เอาศพทารกมาประกอบพิธีกรรมอุบาทว์ มาจนถึงเจ้าลัทธิเด็กที่สมอ้างว่าเป็นศาสดากลับชาติมาเกิด และเจ้าลัทธิที่ตะโกนบ้าใบ้สติไม่สมประดี
.
แต่มันจะสำคัญอะไร ถ้าพวกเขาเหล่านั้นให้ความสบายใจได้มากกว่า ‘ความจริง’ ที่แสนโหดร้าย และไม่มีการรับประกันอะไรถึงรางวัลสำหรับความยากลำบากที่รอคอยอยู่ในปลายทางเลย …..
.
เช่นนั้นแล้ว ปัญหาเรื่องลัทธิ วิกฤติศรัทธา จึงไม่ใช่ประเด็นด้านศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผลพวงจากหลากหลายปัญหาที่สะสมทบรวมกัน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนถึงความเชื่อ
.
เพราะไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยมาจากไหน มนุษย์ก็ยังต้องการความเชื่อ และการรับประกันว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต มีคำอธิบายและที่มาที่ไป …..
.
และทำให้คำตอบเรื่องตายแล้วไปไหน หรือชาติหน้ามีจริงหรือไม่ มันดูรื่นหูน่าฟัง กว่าความจริงเรื่องอนิจจังอันแสนว่างเปล่า หลายต่อหลายเท่านัก
.
#GMLive #GMLiveThought #TwistedFaith #ปัญหาลัทธิและวิกฤติศรัทธา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น