ร้านศรณ์ อาหารไทยปักษ์ใต้ 2 ดาวมิชลิน 5 ปีซ้อน

 

ร้านศรณ์ อาหารไทยปักษ์ใต้ โดดเด่นทั้งความอร่อยและไม่เหมือนใคร เพราะเชฟไอซ์มองว่า อาหารคืองานศิลปะ จึงเป็นที่มาของ 2 ดาวมิชลิน 5 ปีซ้อน


หลังจากเล่าเรื่องอาหารและร้านอาหารของประเทศต่างๆ ไปแล้ว 7 เมืองใน 3 ประเทศ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เรากลับมาหาอาหารไทยกันบ้าง เพราะคนไทยอย่างเรา ต่อให้ได้ชิมและชอบอาหารของชาติไหนๆ ในโลก สุดท้ายอาหารไทยก็คือที่สุดในใจ คือ Comfort food ของเราอยู่ดี

ด้วยความที่เป็น Comfort food นี่ล่ะ ทำให้เราอาจไม่ค่อยมองอาหารไทยในรูปแบบไฟน์ ไดนิ่ง (Fine dining) เท่าไหร่ การเสิร์ฟอาหารไทยแบบเทสติงเมนู(Tasting menu) ยิ่งนึกไม่ออก เพราะเรามักจะมีกับข้าวเป็นจานใหญ่จานกลาง แบ่งกับข้าวกัน ทานด้วยกันหลายคน


แต่ใช่ว่าอาหารไทยจะจัดในรูปแบบไฟน์ไดนิ่งหรือเทสติงเมนูไม่ได้กลับเป็นประสบการณ์ใหม่ในการนำเสนอและทานอาหารไทยที่น่าสนใจ และร้านที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นคือ “ศรณ์” (Sorn)

เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม 2566 มิชลินไกด์เปิดรายชื่อร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินของประเทศไทย ประจำ พ.ศ. 2567 มี 7 ร้านที่ได้ 2 ดาวมิชลิน หนึ่งในนั้นคือ ศรณ์ ที่ยังคงรักษาดาวมิชลิน 2 ดวงไว้ได้ตั้งแต่ปี 2563

 

ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2562 ร้านศรณ์ได้รับดาวมิชลิน 1 ดวง หลังเปิดร้านได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น เหมือนเกิดมาเพื่อคว้าดาวโดยเฉพาะ แต่เจ้าของร้านบอกว่า เขาไม่ได้คิดถึงจุดที่จะคว้าดาว เพียงแค่ตั้งใจที่จะทำอาหารให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

 

เชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ เจ้าของร้านศรณ์ มีประสบการณ์ด้านร้านอาหารมานานจาก “บ้านไอซ์” ร้านอาหารใต้ของครอบครัว ที่จนถึงวันนี้เปิดมากว่า 30 ปีแล้ว “ศรณ์” คือพื้นที่เติมเต็มความฝันเกี่ยวกับการทำอาหารของเขา เชฟไอซ์มองว่า อาหารคืองานศิลปะ และเขาอยากใช้เวลาในการทำอาหารอย่างที่ควรเป็น

 

ด้วยวิธีการแบบต้นตำรับ ได้รสชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เชฟไอซ์เป็นคนนครศรีธรรมราช เขาก็อยากให้คนได้ทานอาหารใต้แบบแท้ๆ และต้องการยกระดับอาหารท้องถิ่นให้สะดุดตา ซึ่งก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะศรณ์เป็นร้านอาหารใต้ร้านเดียวที่ไปได้ถึง 2 ดาวมิชลิน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นความตั้งใจในการทำอาหารใต้แบบแท้ๆ ของเชฟไอซ์คือ วัตถุดิบเกือบ 100% มาจากภาคใต้ มาจากชาวบ้านชาวประมงโดยตรง และสดใหม่ ส่งขึ้นเครื่องบินมาทุกเช้า แม้แต่ไข่ไก่ก็ยังมาจากฟาร์มภาคใต้

 

ที่ร้านศรณ์สามารถอธิบายถึงต้นทางที่มาของวัตถุดิบได้ทุกชนิด ที่นี่โขลกพริกแกงทุกอย่างเองด้วยสากและครก หุงข้าวในหม้อดินด้วยน้ำแร่จากระนอง

 

:: คอร์สอาหารร้านศรณ์’ ::

อาหารที่ศรณ์เสิร์ฟเป็นคอร์ส ไม่ได้มีรายการอาหารให้เลือก แต่ถ้าไม่ทานเนื้อวัวหรือแพ้อาหารอะไร เชฟจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นให้ (แต่ถ้าแพ้อาหารทะเล ก็อาจจะลำบากหน่อย) เป็นที่รู้กันว่ารสชาติอาหารใต้ของแท้คือ เผ็ดมาก

 

ถ้าทานเผ็ดมากๆ ไม่ได้ เชฟก็จะปรับลดความเผ็ดลงให้ แต่ยังคงความเผ็ดอยู่ เพื่อไม่ให้เสียเอกลักษณ์อาหารใต้ ซึ่งความจริงแล้ว อาหารแต่ละคำที่เสิร์ฟคือ เขาคิดมาให้แล้วว่าให้ทานคู่กันหรือต่อกัน เพื่อช่วยลดความเผ็ดหรือส่งรสชาติกันได้พอดี

 

·       Amuse Bouche หรือโหมโรง คล้ายๆ อาหารเรียกน้ำย่อย เป็นอาหารคำเล็กๆ เพื่อเปิดต่อมรับรสให้อาหารจานถัดๆ ไป จัดมาอย่างละคำ มีหลายอย่างมาก เช่น น้ำพริกกาหยู คุดคัดเคยหรือมังคุดคัดที่แต้มหน้าด้วยน้ำพริก ฝรั่งไส้แดง จักจั่นทอดใบเล็บครุฑ

 

และอีกหลายอย่าง ซึ่งอาจไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้งที่มาทานขึ้นอยู่กับของสดในวันนั้น ล้างรสด้วยไอติมดอกดาหลา แล้วจึงเป็นพระเอกของชุดโหมโรงที่ต้องมีทุกครั้งคือ “กรรชูเปียง” หรือกรรเชียงปูกับน้ำพริกไข่ปู ตามด้วยน้ำซุปมะพร้าว เพื่อลดความเผ็ดของน้ำพริก…น้ำแกงถ้วยนี้แปลกมาก และอร่อยมากด้วย

·       ข้าวยำ ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอาหารใต้ ก็จัดมาเป็นคำน้อยๆ เช่นกัน ตามด้วยโรตีแกงเนื้อ แล้วจึงเริ่มรายการหลัก คือเสิร์ฟข้าวสวย เป็นข้าวหอมราชินีจากสงขลา พร้อมสำรับเครื่องเคียง เช่น ปลาวง หมูหวาน น้ำพริกกุ้งเสียบ ฯลฯ

 

จานเครื่องเคียง สั่งผลิตพิเศษเป็นรูปฝักสะตอ รูปร่างโค้งรับกับจานข้าวพอดี ส่วนกับข้าวจัดมาเป็นจานกลางแบ่งกันทานตามวิถีอาหารไทย มีภูเก็ตล็อบสเตอร์ แกงเขียวหวานพริกแกงใต้ สะตองานวัด ผัดถั่วปลาดุกร้า แกงจืดเห็ดโคนย่าง เป็นต้น

 

·       ปิดท้ายด้วยของหวานซึ่งเป็นชุดใหญ่เช่นกัน มีทั้งสาคูเปียกลำไย ไอศกรีม ผลไม้กระป๋อง...ใช่ ผลไม้กระป๋อง คือเป็นผลไม้สดแต่ใช้กระป๋องเสิร์ฟเป็นลูกเล่นเท่านั้น

 

แล้วก็เป็นชาหรือกาแฟ แต่ยังไม่หมดเท่านั้น มีชุดของหวานเซอร์ไพรส์อีก 8 คำ เช่น ขนมครก ตะโก้ กาละแมกวนสด ฯลฯ แล้วปิดท้ายจริงๆ เป็นแยมและเนยกาหยูกระปุกเล็กๆ น่ารัก ทำสดใหม่ ให้เป็นของขวัญของที่ระลึกให้นำกลับบ้าน

 

รายการอาหารที่เอ่ยไปข้างต้น นี่คือไม่ใช่ทั้งหมด อาหารที่เสิร์ฟนั้นมีมากกว่า 20 อย่าง พร้อมคำอธิบายจากพนักงานก่อนเสิร์ฟทุกจานอย่างละเอียดยิบ (จนเราจำได้ไม่หมด)

 

อาหารทุกจานมีที่มาของวัตถุดิบ มีรายละเอียด มีวิธีการทานให้อร่อย นำเสนอในแบบที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ ด้วยรสชาติที่เป็นไทยเหมือนเดิม

 

เราว่าวิธีการเสิร์ฟอาหารของศรณ์ น่าสนใจและแสดงให้เห็นว่า อาหารไทยประยุกต์ได้หลากหลาย แม้จะจัดเป็นคอร์สเป็นเทสติง เมนูให้อารมณ์เหมือนอาหารฝรั่ง

 

แต่เมื่อถึงเมนคอร์ส ก็ยังเป็นการทานกันแบบไทยๆ แชร์กับข้าวกัน ซึ่งเป็นการผสมผสานได้อย่างลงตัว

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ศรณ์ได้ดาวมิชลินมา 6-7 ปีซ้อน ไม่นับรวมรางวัลจากสถาบันอื่นๆ และได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารที่จองยากที่สุดร้านหนึ่งของไทยในเวลานี้ เขาเปิดให้จองเดือนละหนึ่งครั้ง โดยจะแจ้งล่วงหน้าที่เว็บไซต์ อินสตาแกรม หรือหน้าเพจเฟซบุ๊กของร้าน https://sornfinesouthern.com

 

นอกจากรสชาติอาหาร การนำเสนอ หรือบริการที่น่าประทับใจแล้ว สิ่งที่เราชอบที่สุดของที่นี่คือ การเลือกวัตถุดิบที่มาจากท้องถิ่น เป็นของดีของชุมชนของชาวบ้านในท้องที่จริงๆ รวมถึงการใช้เทคนิคโบราณหลายอย่างในการทำอาหาร เราว่ามันเป็นความน่ารัก และทำให้รักอาหารไทยยิ่งขึ้นไปอีก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“Cheals Bar”…บาร์ rooftop เปิดใหม่ มู้ดดี สนุกอารมณ์ ปักหมุดที่แฮงค์เอาท์ใหม่ ณ ซอยอารีย์

L-Seven Café & Bar… บาร์ลับ ๆ ย่านนานา

❤️THE DAY OF JIN & Shutt ❤️ ขาร็อคก็หวานเป็น❤️ชัช บอดี้แสลม